ประสิทธิภาพ ของ Sinopharm และ อาการข้างเคียง

Sinopharm หรือ BBIBP-CorV (the Beijing Bio-Institute of Biological Products) เป็นวัคซีนยี่ห้อแรกจากจีนที่ WHO หรือ องค์การอนามัยโลกให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 และกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งวัคซีนทางเลือกของประเทศไทย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเพิ่งผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนของไทยโดย อย. ไปในวันที่ 28 พฤษภาคม 2021

Sinopharm เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเชื้อตายเหมือนกับ Sinovac โดยใช้ Beta-propiolactone ยับยั้งความสามารถในการเพิ่มจำนวนของไวรัส และ ใช้ aluminium hydroxide เป็นสารเสริมฤทธิ์ (adjuvants) เหมือนกัน แตกต่างกันตรงไวรัสที่เลือกใช้

Sinopharm
A health worker holds a vial of the Sinopharm Covid-19 coronavirus vaccine at a vaccination centre in Rawalpindi on May 25, 2021. (Photo by Farooq NAEEM / AFP)

Sinopharm ใช้ไวรัส 2 สายพันธุ์มาทำวัคซีน คือ WIV04 และ HB02 ซึ่งได้มาจากคนไข้ 2 คน ในโรงพยาบาล Jinyintan เมืองอู่ฮั่น

มีงานวิจัยของ Sinopharm ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 รายงานผลการศึกษาของทั้งสองสายพันธุ์นี้เปรียบเทียบกัน เป็นการเก็บข้อมูลในเฟส 3 ที่ทดสอบกับประชากกลุ่มใหญ่ 40,382 คน แถบตะวันออกกลาง คือ ประเทศบาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เก็บข้อมูลตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2020 ถึง 20 ธันวาคม 2020 สำหรับ % efficacy ของวัคซีน และถึง 31 ธันวาคม 2020 สำหรับการติดตามอาการข้างเคียงของวัคซีน

โควิท-19 งานวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Sinopharm สายพันธุ์ WIV04 13,459 คน, กลุ่มที่ได้รับวัคซีน Sinopharm สายพันธุ์ HB02 13,465 คน และ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก ซึ่งถือเป็นกลุ่มควบคุม 13,458 คน

ผลการทดลอง

หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก พบผู้ติดเชื้อจากกลุ่ม WIV04 69 คน, HB02 48 คน และ วัคซีนหลอก 138 คน จึงคิดเป็น % efficacy ของวัคซีนหลังจากฉีดเพียงเข็มเดียว ว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

  • 50.3% ในวัคซีน Sinopharm สายพันธุ์ WIV04
  • 65.5% ในวัคซีน Sinopharm สายพันธุ์ HB02

แต่เมื่อฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดส พบว่า % efficacy ของวัคซีนทั้งสองสายพันธุ์เพิ่มขึ้น พบผู้ติดเชื้อโควิดแบบแสดงอาการ จากกลุ่ม WIV04 26 คน, HB02 21 คน และ วัคซีนหลอก 95 คน จึงคิดเป็น % efficacy ของวัคซีนหลังฉีดครบทั้งสองเข็มว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ ได้

  • 72.8% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ WIV04
  • 78.1% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ HB02

แต่ถ้ารวมการติดเชื้อโควิดที่ให้ผลบวก แต่ไม่แสดงอาการเข้าไปด้วย จะทำให้มีผู้ติดเชื้อในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้น พบจากกลุ่ม WIV04 42 คน, HB02 31 คน และ วัคซีนหลอก 116 คน ดังนั้น % efficacy ของวัคซีนหลังฉีดครบทั้งสองเข็ม ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดทั้งแบบที่มีอาการและไม่มีอาการ คือ

  • 64.0% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ WIV04
  • 73.5% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ HB02

นอกจากนั้น ยังพบว่า วัคซีนทั้งสองสายพันธุ์ สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิดได้ 100% เพราะไม่พบเคสป่วยหนักหรือเสียชีวิตในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนเลย แต่พบเคสที่ป่วยหนักในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก 2 คน

ถึงอย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 2 คน ถือว่าน้อยเกินไปที่จะสรุปว่าวัคซีนสามารถป้องกันอาการป่วยหนักได้ 100% รวมถึงภายในช่วงเวลาติดตามผลหลังจากฉีดวัคซีน ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้มีเคสป่วยหนักน้อย

อีกประเด็นหนึ่งคือ​ กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ เป็นผู้ชายมากถึง 84.4% อายุเฉลี่ย อยู่ที่ 36.1 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อย สุขภาพแข็งแรง จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงกับผู้ที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง, ผู้หญิง/ผู้หญิงตั้งครรภ์ และ ผู้สูงอายุ ได้ เนื่องจากจำนวนน้อยเกินไป

อาการข้างเคียง

ส่วนอาการข้างเคียงของวัคซีนที่พบ หลังจากฉีดไป 7 วัน เจอในกลุ่ม WIV04 5,957 คน, HB02 5,623 คน และ วัคซีนหลอก 6,250 คน คิดเป็น

  • 44.2% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ WIV04
  • 41.7% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ HB02
  • 46.5% ในวัคซีนหลอก

เป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยอาการส่วนมากที่พบเป็นระดับเบา ไม่ร้ายแรง เช่น ปวดบริเวณฉีด และ ปวดศีรษะ ซึ่งหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา ส่วนอาการข้างเคียงที่พบ **หลังจากฉีดวัคซีนไป 8-28 วัน** ส่วนมากเป็นอาการที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็ได้ โดยอาการข้างเคียงที่พบระดับหนักคิดเป็น

  • 0.5% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ WIV04
  • 0.4% ในวัคซีนSinopharm สายพันธุ์ HB02
  • 0.6% ในวัคซีนหลอก

ทั้งนี้ มี 2 เคสที่ถูกรายงานว่าอาการข้างเคียงระดับหนักที่เกิดขึ้น อาจเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีน ซึ่งทั้งสองคนได้รับวัคซีน Sinopharm สายพันธุ์ HB02 ได้แก่

  1. – ชาย วัย 30 ปี ถูกวินิจฉัยว่าอาจเป็นโรคปลอกประสาทอักเสบ หลังจากได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก แต่ตอนหลังพบว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนเพราะเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม
  2. – หญิง วัย 35 ปี หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสอง มีการอาเจียนอย่างหนัก ซึ่งหลังจากได้รับยาแก้อาเจียนก็ดีขึ้น

นอกจากงานวิจัยฉบับนี้ ยังมีรายงานการศึกษาวัคซีน Sinopharm จาก SAGE ของ WHO ซึ่งเป็นสายพันธุ์ Beijing สายพันธุ์ที่ WHO ให้การรับรอง (คาดว่าตรงกับสายพันธุ์ HB02 ตามงานวิจัยของ JAMA เพราะประสิทธิภาพดีกว่าสายพันธุ์ WIV04 ชัดเจน) และ สายพันธุ์ Beijing ก็เป็นสายพันธุ์ที่จะนำเข้ามาในประเทศไทยด้วย

ข้อมูลเบื้องต้นจากรายงานของ SAGE ระบุว่า Sinopharm เป็นวัคซีน 2 โดส แนะนำให้ฉีดสองเข็มห่างกัน 21-28 วัน ผ่านการรับรองภายในประเทศจีนตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2020 และได้รับการยอมรับจากอีก 45 ประเทศ ให้ใช้ฉีดในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป

มีการทดลองเฟส 3 ในประเทศบาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, จอร์แดน และ อียิปต์ เพื่อหาค่า % efficacy ของวัคซีน แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งก็คือ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนSinopharm 13,765 คน และ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก 13,765 คน

พบว่าวัคซีนมี % efficacy ป้องกันการติดเชื้อโดยรวม 78.1% สำหรับกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-59 ปี โดยในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่สามาถประเมินได้ (NE) เนื่องจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป

ส่วนในกลุ่มตัวอย่างที่มีโรคประจำตัว คือ ความดันสูง, เบาหวาน, โรคอ้วน พบว่าในกลุ่มความดันสูง ไม่สามารถประเมินผลได้ (NE) เพราะจำนวนกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป ส่วนกลุ่มที่เป็นเบาหวาน พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 63.7% แต่ก็ยังไม่น่าเชื่อถือ เพราะจำนวนกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไปเช่นกัน

สำหรับโรคอ้วน พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 80.7%

อาการข้างเคียง

ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 16,671 คนที่มีการติดตามอาการข้างเคียง เพื่อศึกษาความปลอดภัยของวัคซีน พบว่า

  • อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ เป็นระดับเบาถึงปานกลาง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด, ปวดหัว, เมื่อยล้า, อ่อนเพลีย
  • พบอาการข้างเคียงระดับหนักที่คาดว่าอาจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 2 เคส คือ อาเจียนอย่างหนัก และ มีการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (Acute Disseminated Encephalomyelitis)
  • มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย แต่อยู่ในกลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีนหลอก
  • มี 1 เคสที่ถูกวินิจฉัยว่าเกิดลิ่มเลือด และอยู่ในกลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีน
  • มีรายงานเคสที่เกิดอาการแพ้เฉียบพลัน แต่ไม่รุนแรง ทั้งในกลุ่มที่ได้ฉีดวัคซีนและวัคซีนหลอก ไม่แตกต่างกัน

Sinopharm หลังจากนั้น มีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2020 จากการฉีดจริงในประชากรจีน 5.9 ล้านคน พบว่า

  • มีรายงานอาการแพ้ 1,453 เคส คิดเป็น 24.6/100,000 โดส
  • 108 เคส มีอาการแพ้บริเวณที่ฉีด โดย 2 เคส เป็นรอยบวมแข็ง และ 6 เคส พบผื่นบวมแดง
  • 202 เคส มีไข้ โดย 86 เคส มีไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38.6 องศาเซลเซียส)
  • 11 เคส มีอาการอัมพาตที่ใบหน้า ทุกเคสถูกประเมินว่าไม่ได้เป็นผลจากวัคซีน
  • อื่นๆ เช่น เป็นผื่นแพ้/ผื่นลมพิษ

และถึงแม้จะไม่มีการเก็บข้อมูลกลุ่มผู้สูงอายุในเฟส 3 แต่ได้มีการเก็บข้อมูลการใช้ Sinopharm ฉีดจริงให้กับประชากรจีนอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.1 ล้านคน มีรายงานพบอาการข้างเคียง 79 เคส คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน 45 เคส ทั้งหมดเป็นอาการทั่วไป ไม่ร้ายแรง ได้แก่

  • มึนหัว 23 เคส
  • ปวดหัว 9 เคส
  • อ่อนเพลีย 9 เคส
  • คลื่นไส้ 7 เคส
  • มีไข้ 6 เคส
  • อาเจียน 6 เคส
  • ผื่นแพ้ 6 เคส

จากทั้งงานวิจัย และ รายงานของ SAGE พบว่าผลการศึกษาสอดคล้องกัน

  1. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุน้อย และ ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง อาจจะมีโรคอ้วนบ้าง แต่โดยรวมถือว่าสุขภาพดี ดังนั้นจึงไม่มีการรายงาน % efficacy และ ความปลอดภัยของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรมีการศึกษาเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถฉีดให้กับประชากรกลุ่มนี้ได้
  2. มีการเก็บข้อมูลถึงแค่เดือนธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การระบาดค่อนข้างสงบในพื้นที่ตะวันออกกลาง และยังไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆปรากฎ จึงยังไม่มีข้อมูลของวัคซีนกับเชื้อกลายพันธุ์ แต่ในรายงาน SAGE ระบุว่าจากการศึกษา Cross-neutralization พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงกับสายพันธุ์ B.1.351 หรือ สายพันธุ์แอฟริกา
  3. % efficacy ของวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการคือ 78.1% แต่ถ้ารวมการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการด้วย จะอยู่ที่ 73.5%
  4. ผลข้างเคียงที่พบส่วนมากไม่ร้ายแรง พบเยอะสุดคือ ปวดบริเวณที่ฉีด, ปวดหัว และ อ่อนเพลีย

แต่โดยรวมคิดว่า Sinopharm ก็เป็นอีกหนึ่งวัคซีนทางเลือกนอกจาก Sinovac ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเชื้อตายเหมือนกัน แต่มีผลการศึกษา % efficacy ออกมาดีกว่า และเป็นวัคซีนที่มีการยอมรับในต่างประเทศมากกว่า