ข่าววัคซีนยังคงมีมาเรื่อยๆ คาดว่าปลายปีหน้าวัคซีนอาจจะล้นตลาด และเป็นโอกาสของผู้ซื้อ เหตุใดไทยยังคงต้องพัฒนาเอง เหตุผลที่ยังคงต้องพัฒนาวัคซีนต่อ เพราะประเทศไทยไม่เคยมีวงจรห่วงโซ่การคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่ชัดเจน ตอนนี้จึงเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างศักยภาพการผลิตให้ครบวงจร

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม, ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าของวัคซีน Chula-Cov19 หลังได้ทดลองในหนู และลิง ว่า
โครงการฯ คาดว่าจะสามารถฉีดทดลองวัคซีนในอาสาสมัครมนุษย์ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาผลทดสอบวัคซีนก่อนจะเปิดรับอาสาสมัครช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวถึงความคืบหน้าในรายละเอียด ดังนี้
- วัคซีน Chula-Cov19 นี้สามารถป้องกันโรค โควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากมายในหนูทดลอง ผลการทดลองล่าสุด ภายหลังจากหนูทดลองชนิดพิเศษ ที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรค โควิด-19 ได้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบสองเข็ม ห่างกันสามสัปดาห์ เมื่อหนูทดลองได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีน จะเกิดอาการแบบ โควิด-19 ภายใน 3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด
- วัคซีน Chula-Cov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ คือ 2-8 องศาเซลเซียสได้ อย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก
ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย